เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 2. อลคัททูปมสูตร

[237] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า "ภิกษุ
ทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายก็รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ เหมือนที่อริฏฐภิกษุ
ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งนี้กล่าวตู่เราด้วยทิฏฐิที่ยึดถือไว้ผิด ชื่อว่าทำลาย
ตนเองและชื่อว่าประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากหรือ"
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ข้อนั้นไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า เพราะว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมทั้งหลายที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายแก่ข้าพระองค์
ทั้งหลายโดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพ
ได้จริง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 'กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความ
คับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ กามทั้งหลายเปรียบเหมือนท่อนกระดูก มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ ฯลฯ กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดีแล้ว ชอบแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ที่เธอทั้งหลายรู้ทั่ว
ถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้เหมือนที่เรากล่าวแล้วว่า ธรรมทั้งหลายเป็นธรรมก่อ
อันตรายแก่เธอทั้งหลายโดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตราย
แก่ผู้ซ่องเสพได้จริง เรากล่าวว่า 'กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความ
คับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ กามทั้งหลายเปรียบเหมือนท่อนกระดูก มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ ฯลฯ กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่'
เออก็ อริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งนี้กล่าวตู่เรา ด้วยทิฏฐิที่ยึด
ถือไว้ผิด ชื่อว่าทำลายตนเอง และชื่อว่าประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นจัก
เป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่อริฏฐโมฆบุรุษนั้นตลอดกาลนาน
ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่อริฏฐภิกษุนั้นจะเสพกามโดยปราศจากกาม
ปราศจากกามสัญญา และปราศจากกามวิตก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :251 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 2. อลคัททูปมสูตร

การเล่าเรียนธรรมของโมฆบุรุษ

[238] ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม
คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม
และเวทัลละ1 พวกเขาเล่าเรียนธรรมนั้นแล้วไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น
ด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นจึงไม่ประจักษ์ชัดแก่พวกเขา ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วย
ปัญญา โมฆบุรุษเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมมุ่งจะข่มขู่ผู้อื่น และมุ่งจะเปลื้องตนจากคำ
นินทาว่าร้าย ย่อมไม่ได้รับประโยชน์แห่งธรรมนั้น เหมือนที่เหล่ากุลบุตรเล่าเรียน
ธรรมได้รับ ธรรมเหล่านั้นที่พวกเขาเรียนไม่ดี ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์
เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะพวกเขาเรียนธรรมทั้งหลายมาไม่ดี
บุรุษผู้ต้องการงูพิษ เที่ยวเสาะแสวงหางูพิษ เขาพบงูพิษตัวใหญ่จึงจับมันที่
ขนดหางหรือที่หาง งูพิษนั้นจะพึงแว้งกัดเขาที่มือ ที่แขน หรือที่อวัยวะน้อยใหญ่
แห่งใดแห่งหนึ่ง เพราะการถูกกัดนั้นเขาก็จะตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย

เชิงอรรถ :
1สุตตะ ได้แก่ อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร มงคลสูตร รตนสูตร นาฬกสูตร ตุวัฏฏกสูตร ในสุตตนิบาต
และพุทธวจนะอื่น ๆ ที่มีชื่อว่าสุตตะ
เคยยะ ได้แก่ พระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด โดยเฉพาะสคาถวรรคในสังยุตตนิกาย
เวยยากรณะ ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพุทธพจน์อื่นที่ไม่
จัดเข้าในองค์ 8 ที่เหลือ
คาถา ได้แก่ ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนในสุตตนิบาตที่ไม่มีชื่อว่าเป็นสูตร
อุทาน ได้แก่ พระสูตร 82 สูตรที่เกี่ยวด้วยคาถาที่ทรงเปล่งด้วยพระหฤทัยสหรคตด้วยโสมนัสญาณ
อิติวุตตกะ ได้แก่ พระสูตร 110 สูตร ที่ตรัสโดยนัยว่า วุตฺตมิทํ ภควตา เป็นต้น
ชาตกะ ได้แก่ ชาดก 550 เรื่อง มีอปัณณกชาดก เป็นต้น
อัพภูตธรรม ได้แก่ พระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ทั้งหมด ที่ตรัสโดยนัยว่า "ภิกษุทั้งหลาย
ข้ออัศจรรย์ไม่เคยมี 4 อย่างนี้ หาได้ในอานนท์" ดังนี้เป็นต้น
เวทัลละ ได้แก่ พระสูตรแบบถาม-ตอบ ซึ่งผู้ถามได้ทั้งความรู้ และความพอใจ เช่น จูฬเวทัลลสูตร
มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญหสูตร สังขารภาชนียสูตร และมหาปุณณมสูตร (ม.มู.อ.
2/238/13)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :252 }